ตรวจเต้านมด้วยตนเอง มีขั้นตอนการตรวจอย่างไร

การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ จะทำให้เรารู้ถึงสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเต้านมได้ โดยเฉพาะความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม บทความนี้จะมาบอกถึงขั้นตอนในการตรวจเต้านมว่าจะต้องทำอย่างไร

การตรวจเต้านมมีขั้นตอนดังนี้

  • ยืนที่หน้ากระจก ดูเต้านมทั้งสองข้าง จากนั้นสังเกตดูว่ารูปร่าง ขนาด สีผิว หัวนม ตำแหน่งของเต้านม เป็นอย่างไร สำหรับการตรวจควรเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของเดือนก่อนด้วย
  • ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ และให้ดูที่เต้านมอีกครั้ง จากนั้นให้หมุนตัวช้าๆ เพื่อดูด้านข้างของเต้านม
  • ใช้มือเท้าเอว โน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย และดูความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
  • ให้ใช้นิ้วมือบีบหัวนมเบาๆ ดูว่ามีสิ่งคัดหลั่งอย่างหนอง หรือเลือด ไหลออกมาหรือไม่
  • ให้เริ่มคลำที่เต้านม โดยเริ่มคลำตั้งแต่บริเวณกระดูกไหปลาร้าลงมา โดยใช้มือซ้ายคลำที่เต้านมข้างขวา ใช้นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วชี้ ทั้งสามนิ้ว กดลงบนผิวเบาๆ จากนั้นให้กดแรงขึ้น จนรู้สึกว่าสัมผัสกระดูกซี่โครง ให้คลำบริเวณเต้านมให้ทั่วไปจนถึงบริเวณรักแร้ จากนั้นให้เปลี่ยนมาคลำเต้านมอีกข้าง โดยให้ทำในแบบเดียวกัน
  • หลังจากคลำเต้านมในท่ายืนแล้ว ให้เปลี่ยนมาคลำในท่านอน โดยการใช้หมอนหนุนไหล่สำหรับข้างที่จะคลำ จากนั้นคลำซ้ำเหมือนกับท่ายืน

การดูสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเต้านม

เป็นการสังเกตลักษณะภายนอกของเต้านมที่สามารถมองเห็นได้ โดยดูสิ่งผิดปกติต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับเต้านม ดังนี้

  • ฐานหัวนม ควรมีผิวเรียบเนียนและสีผิวเสมอกัน ไม่ควรมีลักษณะเป็นก้อนหรือรอยนูนดันผิวออกมา ไม่ควรมีลักษณะเป็นรอยบุ๋มที่เกิดขึ้นจากก้อนมะเร็งดึงรั้ง
  • หัวนม สำหรับหัวนมทั้งสองข้าง ควรอยู่ในระดับเดียวกัน มีรูปร่างและสีผิวเหมือนกัน ชี้ออกไปทางด้านข้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีลักษณะถูกดึงรั้งหรือเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ควรมีของเหลว เลือด หรือน้ำเหลือง ไหลออกมาจากหัวนม
  • เต้านม ควรมีผิวที่เรียบเนียนและมีสีผิวที่สม่ำเสมอกัน ไม่ควรมีผิวที่บวมหนาจนมองเห็นรูขุมขนได้เด่นชัด ไม่ควรมีรอยบุ๋ม หรือรอยนูนที่ผิดปกติ สีผิวเต้านมไม่ควรเป็นสีแดงคล้ำ ไม่ควรมีรอยแผลแตกที่ผิวหนัง รวมถึงไม่มีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมา

อาการผิดปกติแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

  • เมื่อสังเกตเห็นว่าลักษณะของเต้านมเปลี่ยนไปจากปกติ เช่น มีแผล บวม นูน หรือเต้านมทั้งสองข้างมีลักษณะไม่เหมือนกัน เช่น ตำแหน่งหัวนม รูปร่าง ขนาด เป็นต้น
  • มีแผลที่ดูผิดปกติ มีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมา มีรอยบุ๋ม คลำพบรอยนูนหรือก้อน หากพบความผิดปกติเหล่านี้ให้มาพบแพทย์

หากทำการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ควรที่จะมาพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมด้วย หากพบความผิดปกติก็จะได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที