ทำความรู้จักเห็ดเผาะ เห็ดที่หากินได้เฉพาะหน้าฝน

หน้าฝนเป็นช่วงที่เห็ดชนิดต่างๆออกดอก และเป็นช่วงที่ชาวบ้านมีรายได้จากการเก็บเห็ดป่ามาขาย โดยเฉพาะ “เห็ดเผาะ” หรือคนเหนือเรียกว่า “เห็บถอบ” พบมากในภายเหนือและภาคอีสาน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนูและมีราคาค่อนข้างสูงอีกด้วย

ทำความรู้จักเห็ดเผาะ 

เห็ดเผาะ” เป็นเห็ดที่อยู่ในวงศ์ Diplosystaceae พบในภาคเหนือและภาคอีสาน เห็ดเผาะเป็นที่นิยมและมีราคาสูง ซึ่งพบได้ตามธรรมชาติในภูมิอากาศร้อนชื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเข้าฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมเท่านั้น 1 ปี ได้กินครั้งเดียว) โดยว่ากันว่าเห็ดเผาะมีรสเย็น หวาน มากให้เป็นอาหารบำรุงร่างกาย ช่วยความสึกหรอในร่างกายที่ชำรุดไปให้เป็นปกติ และกระจายโลหิต เป็นธาตุโปรตีนที่ดี 

เห็ดเผาะแบ่งเป็น 2 ชนิด 

1.เห็ดเผาะหนัง มีฉายาว่า “เห็ดดาว” มาจากคำละตินว่า “Astra” ซึ่งแปลว่า “ดาว”(Star) 

2.เห็ดเผาะฝ้าย เป็นเห็ดที่นิยมรับประทาน เนื่องจากมีรสชาติความกรุบกรอบ หอมอร่อยเฉพาะตัว 

คุณค่าทางสารอาหาร 

เห็ดเผาะปริมาณ 100 กรัม อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย เช่น โปรตีน ไขมันดี ฟอสเฟต แคลเซียม ธาตุเหล็กไนอะซีน วิตามินบี บี2 และซี และให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่  

สรรพคุณทางยาของเห็ดเผาะ 

1.ชูกำลัง บำรุงร่างกาย แก้ช้ำใน ด้วยฤทธิ์สมานแผลแก้อักเสบช้ำภายในร่างกาย 

2.แก้โรคกระเพาะ ช่วยล้างพิษ 

3.นักชีวเคมีทั้งจีนและอเมริกาศึกษาสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็งของเห็ดเผาะที่มีชื่อว่า สารแอสตร้าเคอคูโรน” (Astrakurkurone) พบว่าสารแอสตร้าเคอคูโรนในเห็ดเผาะ ฆ่าเซลมะเร็งในตับ โดยไม่ทำลายเซลตับแต่อย่างใด ศึกษาเปรียบเทียบกับยาเคมีต้านมะเร็งตับชื่อ ด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin) แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย 

4.สารสำคัญที่มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเป็นสารในกลุ่ม heteropolysaccharides ได้แก่ สาร AE2 และสารในกลุ่ม sesquiterpenoids ได้แก่ สาร astrakurkurol และสาร astrakurkurone การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า เห็ดเผาะมีฤทธิ์ปกป้องตับ ปกป้องหัวใจ ต้านเบาหวาน ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านเซลล์มะเร็ง และมีฤทธิ์ต้านจุลชีพโดยเฉพาะฤทธิ์ต้านโปรโตซัวลิชมาเนีย ทั้งหมดยังเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง  

เทคนิคการเก็บเห็ดเผาะไว้ทานนานๆ 

นำเห็ดเผาะมาล้างให้สะอาด นำไปต้มในน้ำเดือดผสมเกลือ 1 ช้อนช้า นาน 20 นาที นำเห็ดเผาะที่ได้ตักใส่ถุงผสมน้ำต้มเล็กน้อย แล้วนำไปแช่ช่องแข็ง จำทำให้คงรสชาติหอม กรอบของเห็ดไว้ได้ 

เห็ดเผาะสามารถนำมาประกอบอาหาร ทั้ง ต้มเค็ม แกงเผ็ด เห็ดผัดใส่หน่อไม้ ห่อหมก เป็นต้น และหารับประทานได้ในฤดูฝนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามการทานเห็ดอาจก่ออาการแพ้ได้ โดยเฉพาะ ผู้ที่แพ้เห็ดหรือสปอร์ควรระวังการรับประทานเห็ด